หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทีมนักวิจัยเนคเทคประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์กราฟีน (Graphene) โดยวิธีการทางเคมีเป็นครั้งแรกของไทย

ที่มา: NECTEC Thailand
ทีมนักวิจัยเนคเทคประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์กราฟีน (Graphene) โดยวิธีการทางเคมีเป็นครั้งแรกของไทยและเป็นทีมแรกที่สามารถผลิตกราฟีนผสมในหมึกนำไฟฟ้า ใช้สร้างอุปกรณ์ซุปเปอร์เซ็นเซอร์ราคาถูกด้วยการพิมพ์อิงค์เจ็ต
กราฟีนเป็นวัสดุมหัศจรรย์ใหม่ล่าสุดที่ประกอบด้วยชั้นของคาร์บอนอะตอมที่หนาเพียง 1 ชั้น มีลักษณะเป็นแผ่นที่มีโครงสร้าง 2 มิติเหมือนตาข่ายรูปหกเหลี่ยมคล้ายรังผึ้ง โดยมีความหนาเท่ากับความหนาของคาร์บอนเพียงอะตอมเดียว หรือประมาณ 0.34 นาโนเมตร  กราฟีนมีคุณสมบัติที่น่าทึ่งหลายอย่าง เช่น เป็นวัสดุที่แข็งแรงกว่าเหล็กกล้าหลายร้อยเท่าและแม้แต่เพชร สามารถยืดหยุ่นได้ถึงร้อยละ 20 สามารถนำไฟฟ้าได้ดีกว่าทองแดงหลายเท่า และยังใสโปร่งแสง นอกจากนี้อิเล็กตรอนที่อยู่บนโครงสร้างของแผ่นกราฟีน สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกือบเท่ากับแสง คาดหวังว่ากราฟีนจะเปลี่ยนโฉมหน้าของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต


กราฟีนถูกค้นพบเมื่อปี 2004 โดยสองนักฟิสิกส์ชาวรัสเซียรางวัลโนเบลในปีนี้ ได้แก่ Dr. Andre Geim และ Dr. Konstantin Novoselov จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ผู้ได้ทำการทดลองและค้นพบความมหัศจรรย์ของกราฟีน จนทำให้มันได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วโลกอย่างมาก กราฟีนมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้งานได้ตั้งแต่เอาไปผสมในวัสดุอื่นๆ เพื่อเพิ่มการนำไฟฟ้าและเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุพอลิเมอร์หรือพลาสติก เช่น นำไปใช้ผสมในวัสดุทำขั้วไฟฟ้าอิเล็กโทรดสำหรับจอภาพแบบสัมผัสหรือจอภาพแบบม้วนงอได้ สร้างเป็นเซ็นเซอร์ที่มีความไวพิเศษ จนกระทั้งนำไปสร้างนาโนทรานซิสเตอร์ที่เล็กได้ถึง 10 นาโนเมตร และมีความเร็วถึง 100 GHz
ทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช นำทีมโดย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค และทีมงาน ได้แก่ ดร. อนุรัตน์ วิศิษฐ์สรอรรถ นายชาคริต ศรีประจวบวงษ์ และ นายดิษยุทธ์ โภคารัตนกุล ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับกราฟีนมานานกว่า 6 เดือนและประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์กราฟีนด้วยเทคนิคเคมีไฟฟ้า ลอกเอาแผ่นกราฟีนบริสุทธิ์ออกจากขั้วกราไฟต์และผสานเข้าไปในเนื้อพอลิเมอร์นำไฟฟ้าทำให้ได้หมึกนำไฟฟ้าที่สามารถนำไปพิมพ์เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเทคนิคอิงค์เจ็ตราคาถูก ผลงานวิจัยนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรและได้รับเชิญให้ไปนำเสนอในการประชุมวิชาการและอุตสาหกรรมระดับโลกเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์และโค้งงอได้ที่ประเทศไต้หวัน คาดว่าผลงานวิจัยจะช่วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และพลังงานของไทย เช่น ลดต้นทุนการสร้างขั้วไฟฟ้าโปร่งแสงสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์และจอภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บประจุของแบตเตอรี่ เสริมความแข็งแรงให้วัสดุคอมโพสิต สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ที่ม้วนงอได้ เป็นต้น


1 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอดครับ ผมเชื่อว่าในอนาคตประเทคไทยคงได้มีได้ใช้ ผลิตภัณฑ์เทคโนลีขั้นสูงแต่ราคาถูกที่พัฒนาโดยคนไทย อย่างแน่นอนครับ

    ตอบลบ